
หัดมักพบในเด็กอายุ 2-14 ปี พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักไม่พบในทารกอายุต่ำกว่า 6-8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์
โรคนี้สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย พบได้ตลอดทั้งปีแต่มักมีอุบัติการณ์สูงในเดือนมกราคมถึงเมษายน
อาจพบระบาดตามชุมชน โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ในปัจจุบันพบได้น้อย เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้อย่างทั่วถึง
สาเหตุ
เกิดจาก เชื้อหัด ซึ่งเป็นไวรัส ที่ชื่อว่า ไวรัสรูบีโอลา (rubeola virus ) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และปัสสาวะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศ (airborne transmission) ได้เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่ จึงเป็นโรคที่สามารถระบาดได้รวดเร็ว
เมื่อเชื้อเข้าไปสัมผัสเยื่อบุของโพรงจมูก เยื่อบุทางเดินหายใจ หรือเยื่อบุตา ก็จะเกิดการแบ่งตัวภายในเยื่อบุแล้วเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปตามผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และอวัยวะต่าง ๆ
ระยะฟักตัว 9-11 วัน
อาการ
มีอาการตัวร้อนขึ้นทันทีทันใด ในระยะแรกมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ผิดกันตรงที่จะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ลด เด็กจะซึม กระสับกระส่าย ร้องงอแง เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ เป็นเสียงแค็ก ๆ น้ำตาไหล ตาแดง ไม่สู้แสง (จะหรี่ตาเมื่อถูกแสงสว่าง) หนังตาบวมตู่ อาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดิน ในระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น หรืออาจชักจากไข้สูง
ลักษณะเฉพาะของหัด คือมีผื่นขึ้นหลังจากมีไข้ 3-4 วัน หรือประมาณวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะเป็นผื่นราบสีแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุด มักจะไม่คัน โดยผื่นจะเริ่มขึ้นที่ชายผม หน้าผาก หลังหู ใบหน้า และไล่ลงมาตามลำคอ หน้าอก แขน (และฝ่ามือ) ท้อง ขา (และฝ่าเท้า) ตามลำดับ จากหน้าถึงเท้าใช้เวลาทั้งสิ้น 48-72 ชั่วโมง ผื่นที่หน้าและลำคอซึ่งขึ้นในวันแรก ๆ จะแผ่มารวมกันเป็นแผ่นราบ ๆ สีแดงขนาดใหญ่ ทำให้เห็นได้ชัดกว่าบริเวณท่อนล่างของลำตัวที่มีลักษณะเป็นผื่นแดงเล็ก ๆ อยู่กระจาย ๆ หลังจากผื่นออกเต็มที่แล้วจะค่อยจางลงโดยไล่เรียงตามลำดับจากหน้าถึงเท้า ผื่นจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีคล้ำ หลังจากนั้นจะลอกเป็นแผ่นบาง ๆ และหายไปใน 7-10 วัน (บางรายอาจนานกว่า)
ส่วนอาการไข้จะขึ้นสูงสุดในวันที่มีผื่นขึ้น และจะมีต่อมาอีก 2-3 วัน จนกระทั่งผื่นขึ้นที่เท้าไข้ก็จะลดลงและอาการอื่น ๆ ก็จะทุเลาไปพร้อมกัน รวมแล้วจะมีไข้อยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าผื่นขึ้นถึงเท้าแล้วไข้ยังไม่ลดหรือลดแล้วกลับกำเริบใหม่ มักบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

ผื่นของหัด
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญของผู้ป่วยหัด ถ้าพบตั้งแต่ก่อนมีผื่นขึ้นหรือระยะที่เริ่มมีผื่นขึ้น มักเกิดจากไวรัสหัดเอง และหากพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น เด็กขาดสารอาหาร ผู้ป่วยมะเร็งหรือเอดส์) หรือหญิงตั้งครรภ์ก็มักจะรุนแรงซึ่งอาจถึงตายได้ ถ้าพบในระยะหลัง ๆ ก็มักเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย
ที่พบบ่อยแต่รุนแรงไม่มาก ได้แก่ ท้องเดินจากไวรัส หูชั้นกลางอักเสบจากแบคทีเรียแทรกซ้อน หลอดลมอักเสบ เยื่อบุตาขาวอักเสบ
ที่รุนแรงถึงตายหรือพิการ คือ สมองอักเสบ ซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000-2,000 มักพบหลังผื่นขึ้น 2-6 วัน (แต่บางรายก็อาจพบก่อนผื่นขึ้น) ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม ไม่รู้สึกตัว หรือชัก ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสตายประมาณร้อยละ 15 และพิการจากภาวะแทรกซ้อนทางสมองประมาณร้อยละ 25
นอกจากนี้ ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- หญิงตั้งครรภ์ ถ้าป่วยเป็นหัดในระยะไตรมาสแรกอาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตร การตายคลอด (stillbirth หรือการคลอดทารกที่ตายในครรภ์) การคลอดก่อนกำหนด ความผิดปกติแต่กำเนิดในทารก ทารกน้ำหนักน้อย
- ภูมิคุ้มกันลดลงชั่วคราว มีโอกาสติดเชื้ออื่น ๆ แทรกซ้อนได้ ที่สำคัญคือ วัณโรค อาจทำให้ผู้ที่มีเชื้อวัณโรคหลบซ่อนอยู่มีอาการกำเริบ หรือผู้ที่เป็นวัณโรคอยู่ก่อน โรคก็จะรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้การทดสอบทูเบอร์คูลินให้ผลลบลวง (เป็นเวลานาน 2-6 สัปดาห์หลังเป็นหัด) ทำให้แปลผลได้ไม่แน่นอน
- ภาวะทุพโภชนาการจากอาการเบื่ออาหาร ท้องเดิน อาเจียนหรืองดอาหารโปรตีนที่เข้าใจว่าเป็นของแสลง
- อื่น ๆ เช่น ครู้ป หลอดลมฝอยอักเสบ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ กระจกตาอักเสบ (keratitis) ซึ่งอาจรุนแรงถึงทำให้ตาบอดได้ หูหนวก หูตึง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อนของสมองอักเสบหรือประสาทหูเสื่อมจากการติดเชื้อหัดที่แพร่กระจายไปตามกระแสเลือด เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก
มักตรวจพบไข้ 38.5-40.5 องศาเซลเซียส หน้าแดง ตาแดง หน้าตาบวมตู่ เปลือกตาแดง อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่หลังหู หลังคอ ท้ายทอย
ระยะ 2 วันหลังมีไข้ ตรวจพบจุดสีขาว ๆ เหลือง ๆ ขนาดเล็ก คล้ายเมล็ดงาที่กระพุ้งแก้มบริเวณใกล้ฟันกรามล่าง (ถ้าเป็นมากจะพบอยู่เต็มกระพุ้งแก้ม) เรียกว่า จุดค็อปลิก (Koplik's spot) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของหัด
หลังไข้ขึ้น 3-4 วัน จะพบผื่นขึ้นที่ชายผม หน้าผาก หลังหู ใบหน้า ลำตัว แขนขา ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
ปอดจะมีเสียงปกติ ยกเว้นถ้ามีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน เมื่อแพทย์ใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation)
ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคหัดให้แน่ชัด แพทย์จะทำการทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสหัด หรือตรวจหาเชื้อไวรัสหัดจากปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งในลำคอ ซึ่งเก็บตัวอย่างโดยการใช้ไม้ป้ายคอ (throat swab)

การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ให้ดูแลปฏิบัติตัวเหมือนไข้หวัด คือ พักผ่อน ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้ขึ้นสูง ดื่มน้ำและน้ำหวานหรือน้ำผลไม้มาก ๆ ไม่ต้องงดของแสลง แต่ควรให้กินอาหารประเภทโปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) มาก ๆ
2. ให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีไข้ให้พาราเซตามอล ถ้าไอให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว หรือยาแก้ไอ เป็นต้น
3. ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ ตั้งแต่ระยะแรกเป็นเพราะนอกจากไม่มีความจำเป็นเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรงแทรกซ้อน (จากเชื้อสแตฟีโลค็อกคัส เข้าไปซ้ำเติม) ซึ่งยากแก่การรักษาได้ (ดู ปอดอักเสบ/ปอดบวม)
4. ถ้ามีอาการท้องเดิน ให้การรักษาแบบท้องเดิน
5. ถ้ามีอาการไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว หรือใช้เครื่องฟังตรวจปอดมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) หรือเสียงอึ๊ด (rhonchi) ให้ยาปฏิชีวนะ (เช่น อะม็อกซีซิลลิน, โคอะม็อกซิคลาฟ, อีริโทรไมซิน, ร็อกซิโทรไมซิน เป็นต้น)
6. ถ้ามีอาการหอบมาก หรือ นับการหายใจเร็วกว่าปกติ* (สงสัยเป็นปอดอักเสบรุนแรง) หรือท้องเดินจนมีอาการขาดน้ำรุนแรง หรือซึม ชัก (สงสัยเป็นสมองอักเสบ) แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ
ผลการรักษา ส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการ มักหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนน้อยที่อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งเมื่อให้ยาปฏิชีวนะรักษาก็หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ มีน้อยรายที่อาจเป็นปอดอักเสบ หรือภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงอื่น ๆ ซึ่งจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
* เด็กอายุ 0-2 เดือน หายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปี หายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปี หายใจมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการไข้หวัด แต่ไข้สูง มีไข้ตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหาร เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ (ถ้าเป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ)
เมื่อตรวจพบว่าเป็นหัด ควรดูแลรักษา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
- พักผ่อน ห้ามอาบน้ำเย็น
- ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้ขึ้นสูง
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- กินอาหารอ่อน (ข้าวต้ม โจ๊ก) ดื่มนม และน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ ไม่ต้องงดของแสลง แต่ควรให้กินอาหารประเภทโปรตีน (เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) มาก ๆ
- กินยาตามที่แพทย์แนะนำ (สำหรับยาลดไข้ อาจไม่ช่วยให้ไข้ลด ก็ไม่ควรให้กินยาซ้ำถี่กว่าทุก 6 ชั่วโมง ให้ใช้วิธีเช็ดตัว และดื่มน้ำให้มาก ๆ แทน)
ควรกลับไปพบแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการหอบมาก หรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หายใจเร็วกว่าปกติ (เด็ก อายุ 0-2 เดือนหายใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที อายุ 2 เดือนถึง 1 ปีหายใจมากกว่า 50 ครั้ง/นาที อายุ 1-5 ปีหายใจมากกว่า 40 ครั้ง/นาที)
- มีไข้นานเกิน 1 สัปดาห์
- มีอาการท้องเดินรุนแรง ปวดหู หูอื้อ ตาแดงตาแฉะ ซึม ไม่ค่อยรู้สึกตัว หรือ ชัก
- เบื่ออาหาร หรือดื่มน้ำได้น้อย
- หลังกินยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
- สงสัยเป็นไข้เลือดออก หรือพบว่ามีคนในละแวกใกล้เคียงเป็น ไข้เลือดออก
- มีความวิตกกังวล
การป้องกัน
1. โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ในบ้านเราแนะนำให้ฉีดเข็มแรกเมื่อเด็กอายุได้ 9-12 เดือน และเข็มที่สอง เมื่ออายุ 4-6 ปี ในกรณีที่มีการระบาดสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกตั้งแต่อายุ 6-9 เดือน และควรฉีดซ้ำอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 12 เดือน และ 4-6 ปี
วัคซีนป้องกันโรคหัดมีทั้งชนิดเดี่ยว (measles vaccine) และวัคซีนรวมป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ที่มีชื่อว่า เอ็มเอ็มอาร์ (MMR ย่อจาก measles, mumps, rubella)
2. ในช่วงที่มีการระบาดหรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้ แนะนำให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด
3. สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะติดต่อ (4 วันก่อนถึง 4 วันหลังมีผื่นขึ้น) ถ้าไม่เคยเป็นหัดและไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันหัดมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
- ถ้าสัมผัสมาภายใน 5 วัน ให้วัคซีนป้องกันหัดทันที (สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ควรฉีดอิมมูนโกลบูลิน ซึ่งเป็นสารภูมิต้านทานร่วมด้วย และฉีดวัคซีนอีกครั้งเมื่ออายุ 15 เดือน)
- เด็กอายุเกิน 1 ปี และสัมผัสมานานเกิน 5 วัน ควรฉีดวัคซีนและอิมมูนโกลบูลิน (immune globulin) และฉีดวัคซีนซ้ำในอีก 5 เดือนต่อมา
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้เกิดจากไวรัส เพียงแต่ให้การดูแลรักษาตามอาการ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ การที่ชาวบ้านในสมัยก่อนหรือบางคนให้ผู้ป่วยกินยาเขียวแล้วหายได้นั้นก็เพราะเหตุนี้ อย่างไรก็ตาม ควรแนะนำให้มีการติดตามเฝ้าดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นในผู้ใหญ่ ซึ่งมักมีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนมากกว่าเด็ก
2. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่าให้คลุกคลีกับคนอื่นจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ (ระยะติดต่อตั้งแต่ 4 วัน ก่อนผื่นขึ้นจนกระทั่ง 4 วัน หลังเริ่มมีผื่นขึ้น)
3. อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ และเมื่อมีผื่นขึ้นที่เท้าไข้จะลดลง ถ้ายังไม่ลดหรือลดแล้วกลับกำเริบใหม่ ควรคิดถึงภาวะแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย เช่น ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ
4. หญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เมื่อเป็นหัดมักจะมีอาการรุนแรงและอาจเกิดโรคปอดอักเสบหรือสมองอักเสบได้มากกว่าคนทั่วไป จึงควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
ควรแนะนำให้ผู้หญิงที่ยังไม่เคยเป็นหัด ฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่ก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์
5. ถ้าสงสัยเด็กมีภาวะขาดวิตามินเอ (เช่น อยู่ในท้องถิ่นที่มีปัญหานี้) เมื่อเป็นหัดควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาให้วิตามินเอเสริม ซึ่งจะช่วยลดความพิการและการเสียชีวิตลงได้
6. โรคนี้ไม่มีของแสลง เมื่อเด็กกินได้ควรบำรุงด้วยอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีภูมิต้านทานโรคได้มาก การอดของแสลงอาจทำให้เกิดโรคแทรกได้ง่ายขึ้น และอาจกลายเป็นโรคขาดอาหารได้
7. โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายรวดเร็ว เด็กที่ไม่เคยออกหัดหรือฉีดวัคซีนหัดมาก่อนจึงมีโอกาสเป็นกันเกือบทุกคน เมื่อเป็นแล้วมักมีภูมิคุ้มกันไปจนตลอดชีวิต
บางคนอาจเข้าใจผิดว่าลูกออกหัดหลายครั้ง ความจริงเด็กอาจเป็นไข้ผื่นขึ้นจากสาเหตุอื่นก็ได้ เช่น หัดเยอรมัน ส่าไข้ ผื่นแพ้ยา เป็นต้น (ตรวจอาการ ไข้ร่วมกับมีผื่นหรือตุ่มขึ้น)
8. มีความเชื่อกันว่า ถ้าผู้ป่วยเป็นไข้สูงที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นหัด แต่ไม่มีผื่นขึ้น มักจะมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง จึงเรียกอาการเช่นนี้ว่า หัดหลบใน และมักจะให้กินยาเขียวเพื่อ "กระทุ้ง" ให้ผื่นขึ้น
ความจริงคำว่า "หัดหลบใน" อาจมีความหมายได้สองแง่ แง่หนึ่งหมายถึง อาการไข้สูงที่เกิดจากโรคติดเชื้อร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ) ที่เกิดจากเชื้อตัวอื่น พวกนี้จะมีอาการคล้ายหัด แต่ไม่มีผื่น (ตรวจอาการ ไข้ ประกอบ) เมื่อเป็นแล้วอาจตายได้
อีกแง่หนึ่ง อาจหมายถึงอาการของหัดในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เด็กขาดอาหาร ผู้ป่วยมะเร็งและเอดส์ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน พวกนี้เมื่อเป็นหัดมักจะไม่มีผื่นขึ้น เพราะร่างกายไม่มีปฏิกิริยาต่อเชื้อหัด (ซึ่งจะแสดงออกมาเป็นผื่นตามตัว) จึงเรียกว่า หัดหลบใน ผู้ป่วยมักมีโรคแทรกรุนแรง (เช่น ปอดอักเสบ) ถึงตายได้
9. ผู้ป่วยมักมีไข้สูงตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหาร หน้าแดง ตาแดง นอกจากหัดแล้วยังอาจเกิดจากไข้เลือดออก ต่างกันที่ไข้เลือดออกมักไม่มีน้ำมูก ไอ แต่อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย (ดู ไข้เลือดออก)
10. ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยโรคนี้ หากมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ (เช่น ไข้ เจ็บคอ เสียงแหบ น้ำมูกไหล ไอ ท้องเดิน หายใจเหนื่อยหอบ) หรือทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ด้วยตนเองให้ผลเป็นบวก ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว