
ฝีตับอะมีบา (ฝีบิดในตับ ก็เรียก) หมายถึงฝีในเนื้อตับที่เกิดจากเชื้ออะมีบา ซึ่งเป็นการติดเชื้ออะมีบานอกลำไส้ที่พบบ่อยและสำคัญที่สุด
โรคนี้ยังพบได้ไม่น้อยในบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท้องถิ่นที่การสุขาภิบาลยังไม่ดี
พบในผู้ป่วยชายมากกว่าผู้ป่วยหญิงประมาณ 6-7 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี
มักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มแอลกอฮอล์จัด ขาดอาหาร หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ
สาเหตุ
เกิดจากเชื้ออะมีบาที่มีชื่อว่า เอนตามีบาฮิสโตไลติคา (Entamoeba histolytica) ซึ่งทำให้เกิดโรคบิดอะมีบา เชื้อนี้จะแพร่กระจายจากลำไส้ใหญ่ผ่านกระแสเลือดเข้าไปในตับ ทำให้เกิดฝีในเนื้อตับ ซึ่งมักเป็นฝีหัวเดียว (หลายหัวก็มีแต่พบได้น้อย) และพบที่ตับกลีบขวาเป็นส่วนใหญ่
ระยะฟักตัวไม่แน่นอน ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 15-20 มีประวัติเป็นบิดอะมีบามาก่อนในระยะใกล้ ๆ หรืออาจนานเป็นปีหรือสิบ ๆ ปี ส่วนใหญ่ไม่มีประวัติถ่ายเป็นมูกเลือดมาก่อน และมีเพียงประมาณร้อยละ 10 เท่านั้นที่มีอาการถ่ายเป็นมูกเลือดขณะเป็นฝีบิดในตับ
อาการ
มีอาการไข้สูง หนาวสั่น เหงื่อออก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เสียดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ หรือปวดตรงชายโครงขวา ซึ่งอาจปวดร้าวมาที่หัวไหลขวา มักปวดอย่างรุนแรง ขยับเขยื้อนหรือแตะถูกจะรู้สึกเจ็บมาก มักปวดมากขึ้นเวลาไอหรือหายใจลึก ๆ หรือนอนตะแคงขวา ถ้าเป็นฝีที่ตับกลีบซ้ายจะมีอาการปวดท้องที่ชายโครงซ้าย และอาจร้าวไปที่หัวไหลซ้าย
บางรายอาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนก่อนที่จะเริ่มมีอาการเจ็บบริเวณตับ (ใต้ชายโครงขวา) ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยจะปล่อยไว้จนเกิดภาวะแทรกซ้อนจึงไปพบแพทย์ เช่น เกิดอาการไอออกมาเป็นหนองสีกะปิหรือหายใจหอบ (เนื่องจากฝีแตกเข้าปอด) ไข้สูง ปวดท้องรุนแรง (เนื่องจากฝีแตกเข้าช่องท้อง) เป็นต้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุบางราย อาจมีอาการเรื้อรังนาน 6 เดือน จะมีอาการน้ำหนักลด ขาดอาหารร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อน
ที่พบบ่อยคือ ฝีแตกเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มปอด เกิดภาวะมีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด บางรายอาจเกิดทางทะลุระหว่างตับกับหลอดลม (hepatobronchial fistula) ทำให้มีอาการไอออกมาเป็นหนองสีกะปิ
ฝีอาจแตกเข้าช่องท้อง เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
ที่พบได้น้อยแต่ร้ายแรงคือ ฝีที่ตับกลีบซ้ายอาจแตกเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจและมีหนองขังอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งมีอัตราตายสูง
นอกจากนี้ เชื้ออาจเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปทำให้เกิดฝีตามอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง ไต เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย โดยมีสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ไข้สูง ตับโต และลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ ตรงชายโครงข้างขวาจะมีจุดที่เคาะหรือกดเจ็บมากกว่าบริเวณโดยรอบ ซึ่งตรงกับตำแหน่งของฝี เราสามารถตรวจโดยใช้นิ้วเพียงนิ้วเดียวไล่จี้กดแรง ๆ ในบริเวณชายโครงขวา ซึ่งจะพบจุดที่กดเจ็บมากที่สุดอยู่จุดหนึ่ง
ส่วนใหญ่ไม่มีอาการดีซ่าน หากมีก็จะพบอาการตาเหลืองเล็กน้อย
ปอดข้างขวาส่วนล่างอาจเคาะทึบ และถ้าใช้เครื่องฟังตรวจปอดจะพบเสียงหายใจค่อย ซึ่งแสดงว่ามีหนองคั่งอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอดข้างขวา
ในรายที่เป็นเรื้อรังจะมีรูปร่างซูบผอม ซีด บวม อาจคลำได้ตับโตมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นมะเร็งตับได้
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ (พบกะบังลมข้างขวาสูงกว่าข้างซ้าย หรือมีหนองขังอยู่ในโพรงเยื่อหุ้มปอด) เจาะเลือดทดสอบการทำงานของตับ (liver function test) ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น อัลตราซาวนด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ สแกนตับ (liver scan) โดยใช้สารกัมมันตรังสีตรวจดูลักษณะของตับ ตำแหน่งและขนาดของฝี
การเจาะตับมักพบมีหนองสีกะปิ เมื่อนำไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์มักพบตัวอะมีบา
ในบางกรณีแพทย์อาจยืนยันการวินิจฉัยด้วยการทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานโดยวิธี ELISA‚ IHA หรือ IFAT
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง (เช่น ให้ยาแก้ปวดลดไข้ ให้น้ำเกลือ บำรุงด้วยอาหารพวกโปรตีน ถ้าสงสัยมีภาวะขาดสารโปรตีน เป็นต้น) และให้ยาฆ่าเชื้ออะมีบา เช่น เมโทรไนดาโซล นาน 10 วัน หรือทินิดาโซล นาน 5 วัน*
ในรายที่มีโพรงหนองขนาดใหญ่อาจต้องเจาะดูดระบายหนองออก เพื่อป้องกันไม่ให้แตกเข้าช่องท้อง โพรงเยื่อหุ้มปอด หรือหัวใจ
ถ้าหนองแตกเข้าช่องท้องจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ถ้าแตกเข้าโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือหัวใจ ก็ต้องใส่ท่อระบายหนองออกจากโพรงเหล่านี้
ผลการรักษา หากได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม มักจะหายเป็นปกติได้เป็นส่วนใหญ่ หากได้รับการรักษาล่าช้าไป ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
*เนื่องจากหลังให้ยาเมโทรไนดาโชล/ทินิดาโซล รักษาจนครบแล้ว พบว่ายังมีเชื้ออะมีบาอยู่ในลำไส้ได้ประมาณร้อยละ 40-60 ของผู้ป่วย หลังให้ยากลุ่มดังกล่าว แพทย์จะให้ยาที่ฆ่าเชื้อในลำไส้ตามมา เช่น ไอโอโดควินอล (iodoquinol) 650 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 20 วัน หรือพาโรโมไมซิน (paromomycin) 500 มก. วันละ 3 ครั้ง นาน 7 วัน
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีไข้สูง หนาวสั่น ตาเหลืองตัวเหลือง เสียดแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ หรือปวดตรงชายโครงขวา ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นฝีตับอะมีบา ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
การป้องกันโรคนี้ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคบิดอะมีบา และหากเป็นโรคบิดอะมีบา ควรดูแลรักษาอย่างจริงจัง
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยที่มีอาการตาเหลือง หรือปวดตรงบริเวณชายโครงขวา ถ้าหากมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ควรนึกถึงโรคฝีตับ ถุงน้ำดีอักเสบมากกว่าตับอักเสบจากไวรัส (ตรวจอาการดีซ่าน/ตาเหลือง และ ปวดท้องร่วมกับมีไข้ ประกอบ)
2. ฝีตับนอกจากมีสาเหตุจากเชื้ออะมีบาแล้ว ยังอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด เรียกว่า ฝีตับจากแบคทีเรีย (pyogenic liver abscess) มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาจมีประวัติเป็นเบาหวาน หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือพบเป็นภาวะแทรกซ้อนของท่อน้ำดีอักเสบ มีอาการไข้สูง เจ็บชายโครงขวา และมักมีอาการดีซ่านร่วมด้วย อาการอาจแยกจากฝีบิดอะมีบาได้ไม่ชัดเจน ควรรับตัวไว้วินิจฉัยและรักษาในโรงพยาบาล การรักษามักจะต้องให้ยาปฏิชีวนะที่จำเพาะกับเชื้อก่อเหตุ