
โปลิโอ เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของประสาทไขสันหลังซึ่งพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เป็นสาเหตุให้แขนขาพิการไปจนตลอดชีวิต ปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีการให้วัคซีนป้องกันได้อย่างทั่วถึง

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสโปลิโอ (poliovirus ซึ่งอยู่ในกลุ่ม enterovirus) ติดต่อโดยการกลืนเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอาหารหรือน้ำดื่มเข้าไปที่คอหอย แล้วมีการแบ่งตัวที่เนื้อเยื่อน้ำเหลืองที่คอหอย จากนั้นเชื้อจะแพร่เข้ากระแสเลือดไปยังสมองและไขสันหลัง แล้วทำให้ประสาทไขสันหลังส่วนที่บังคับการทำงานของกล้ามเนื้อเสียไป ถ้าเป็นรุนแรงประสาทสมองจะเสียด้วย
ระยะฟักตัว 3-35 วัน (พบบ่อย คือ 6-20 วัน)
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโปลิโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90-95) จะไม่มีอาการแสดง ประมาณร้อยละ 4-8 จะมีอาการคล้ายไข้หวัด ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งจะหายได้เองภายใน 1-9 วัน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีการอักเสบของสมองและไขสันหลัง จนทำให้แขนขาเป็นอัมพาต
อาการ
ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มที่มีอาการแขนขาเป็นอัมพาต
แรกเริ่มจะมีอาการคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีน้ำมูก ท้องอืด ท้องเดินหรือท้องผูกร่วมด้วย ต่อมาอาจมีอาการคอแข็ง หลังแข็ง กล้ามเนื้อแขนขามีอาการปวดเจ็บ เต้นกระตุก และอ่อนปวกเปียกในเวลารวดเร็ว ส่วนมากพบที่ขาเพียงข้างเดียว อาการเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่ยังมีไข้
ในทารกอาจมีอาการแขนขาอ่อนปวกเปียก โดยไม่มีอาการไข้นำมาก่อนก็ได้
ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการอัมพาตของแขนขาทั้งหมด ถ้ากล้ามเนื้อหายใจ (กะบังลมและกล้ามเนื้อหน้าอก) เป็นอัมพาต จะทำให้หายใจไม่ได้ มีอันตรายถึงเสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ที่มีอาการเฉพาะที่ขา ส่วนหนึ่งจะหายและแข็งแรงเป็นปกติ ส่วนหนึ่งอาจจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนเกือบปกติ แต่ส่วนหนึ่งจะพิการตลอดไป
ถ้าเชื้อโรคลุกลามขึ้นสมอง จะทำให้หยุดหายใจตายได้ นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ไข้ แขน 2 ข้าง หรือขา 2 ข้าง มีอาการอัมพาตแบบไม่เท่ากัน (asymmetry) แต่ยังรู้สึกเจ็บ
เมื่อใช้ค้อนยางเคาะดูรีเฟล็กซ์ (reflex) ของข้อเข่าและข้อเท้า จะพบว่ามีน้อยหรือไม่มีเลย
ถ้าเป็นมากจะมีอาการเป็นอัมพาตทั้งตัวและหายใจลำบาก คอแข็ง หลังแข็ง
ในกรณีที่จำเป็น แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจหาเชื้อโปลิโอในคอหอย อุจจาระ หรือน้ำไขสันหลัง
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ในรายที่มีเพียงอาการขาอ่อนปวกเปียก แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลให้การรักษาตามอาการ โดยให้ผู้ป่วยนอนพักอย่างเต็มที่ เอาผ้าชุบน้ำอุ่นประคบตามกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวด แล้วช่วยจับแขนขาให้เคลื่อนไหวไปมา หลังจากนั้นให้การรักษาทางกายภาพบำบัดและหัดเดิน
2. ในรายที่เป็นอัมพาตทั้งตัว หายใจลำบาก อาจต้องทำการช่วยหายใจด้วยวิธีการต่าง ๆ และรักษาโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
การดูแลตนเอง
หากมีอาการไข้ร่วมกับแขนขาอ่อนแรง ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อพบว่าเป็นโปลิโอ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
การป้องกัน
โรคนี้ป้องกันได้โดยให้กินวัคซีนป้องกันโปลิโอ ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ให้ครั้งที่ 2 และ 3 เมื่ออายุ 4 เดือน และ 6 เดือน แล้วกระตุ้นอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 1/2 ปี และ 4-5 ปี
ข้อแนะนำ
1. ผู้ที่รับเชื้อโปลิโอเข้าร่างกาย ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดง หรืออาจมีเพียงอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ท้องเดิน แต่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นทางอุจจาระได้ บางรายมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเพียงเล็กน้อย แล้วหายเป็นปกติดี มีเพียงส่วนน้อยที่อาจพิการหรือตาย
2. ผู้ป่วยที่ขาพิการ การรักษาทางกายภาพบำบัด รวมทั้งการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินจะช่วยให้ผู้ป่วยช่วยตัวเองได้ พ่อแม่พี่น้องควรให้ความเห็นใจ เอาใจใส่ดูแลให้เด็กได้รับความอบอุ่นทางจิตใจ
3. ในปัจจุบัน พบผู้ป่วยโปลิโอได้น้อยมาก ถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการแขนหรือขาอ่อนแรงเฉียบพลัน ควรคิดถึงสาเหตุอื่น ๆ (ตรวจอาการอัมพาต/แขนขาอ่อนแรง/หนังตาตก)
ในรายที่อยู่ ๆ มีอาการอ่อนแรงของปลายเท้าและขา 2 ข้าง และลุกลามขึ้นไปที่ลำตัวและแขน 2 ข้าง ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน อาจเป็น กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร