
อาการชักในเด็กทารกแรกเกิด (นับตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุได้ประมาณ 1 เดือน) เป็นภาวะที่อาจพบได้ครั้งคราว และอาจมีความรุนแรงเป็นอันตรายได้
สาเหตุ
อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น
1. เลือดออกในสมอง มักมีประวัติคลอดลำบาก หรือทารกมีอาการตัวเขียวหลังคลอด อาการมักเกิดขึ้นในระยะ 2-3 ชั่วโมงหลังคลอด
2. ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia) อาจพบในทารกที่กินนมวัวระเหย (ซึ่งมีสารฟอสฟอรัสสูง ทำให้เสียความสมดุลของฟอสฟอรัสกับแคลเซียม เป็นเหตุให้มีแคลเซียมในเลือดต่ำ) มักพบในระยะปลายสัปดาห์แรกหลังคลอด ทารกที่มีน้ำหนักน้อย เด็กแฝด ทารกที่มีมารดาเป็นเบาหวาน หรือมารดาที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperparathyroidism) ทารกที่มีภาวะขาดพาราไทรอยด์ (hypoparathyroidism) ทารกที่คลอดยากหรือต้องผ่าตัดออกทางหน้าท้อง หรือทารกที่เป็นโรคติดเชื้อ มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าเด็กปกติ
3. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia) อาจพบในทารกที่มีน้ำหนักน้อยหรือน้ำหนักมากเกินปกติ ทารกที่มีโรคติดเชื้อ หรือสมองมีความผิดปกติหรือสมองได้รับบาดเจ็บ ทารกที่มีมารดาเป็นเบาหวาน หรือครรภ์เป็นพิษ อาการมักเกิดหลังคลอด 2-3 ชั่วโมง และอาจเกิดซ้ำอีกครั้งในวันที่ 3 หลังคลอด
4. มารดาติดยาเสพติด ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดยาเสพติด (เช่น ฝิ่น บาร์บิทูเรต) อาจมีอาการชักในวันที่ 2 หลังคลอดได้
5. อื่นๆ เช่น บาดทะยัก (ดู “โรคบาดทะยัก”) ภาวะบิลิรูบินสะสมในสมอง (kernicterus) ซึ่งพบในทารกที่ตัวเหลืองจัด (ดู “ภาวะดีซ่านสรีระในทารกแรกเกิด”) โรคติดเชื้อของสมอง เป็นต้น
6. อาการชักที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน
อาการ
เด็กจะมีอาการกระสับกระส่าย ร้องเสียงแหลม อาเจียน หายใจลำบาก ซึม และชักเกร็ง
ภาวะแทรกซ้อน
สมองพิการ ปัญญาอ่อน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
กล้ามเนื้อเกร็ง แขนขากระตุกและชัก
ถ้ามีสาเหตุจากเลือดออกในสมอง อาจตรวจพบกระหม่อมโป่งตึงและรูม่านตาขยาย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้ยากันชักถ้ามีอาการชัก และรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ทำการตรวจหาสาเหตุ แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ฉีดกลูโคสในรายที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ฉีดแคลเซียมกลูโคเนตในรายที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ผ่าตัดในรายที่มีเลือดออกในสมอง เป็นต้น
ผลการรักษาขึ้นกับสาเหตุที่พบ ถ้าเกิดจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ สมองได้รับการกระทบกระเทือนจากการคลอด หรืออาการชักที่ไม่มีสาเหตุชัดเจน ผลการรักษาค่อนข้างดี
ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงก็อาจตาย หรือพิการได้
การดูแลตนเอง
หากทารกแรกเกิดมีอาการชัก ควรพาไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
อาจป้องกันได้ โดยการดูแลหญิงตั้งครรภ์และการคลอด ดังนี้
- ทำการฝากครรภ์ และดูแลตนเองตามคำแนะนำของแพทย์
- ฉีดยาป้องกันบาดทะยัก
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติด
- คลอดในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม
ข้อแนะนำ
อาการชักในทารกแรกเกิดมีจากสาเหตุได้หลายอย่าง ที่สำคัญ คือ การคลอดที่ยุ่งยาก (ซึ่งอาจทำให้ทารกมีเลือดออกในสมอง) มารดามีโรคประจำตัว(เช่น เบาหวาน ติดยาเสพติด) และทารกมีน้ำหนักน้อยหรือมากกว่าปกติ การป้องกันภาวะชักในทารกแรกเกิดจึงอยู่ที่การดูแลครรภ์มารดาและการคลอดที่ปลอดภัยเป็นสำคัญ