
เวียนศีรษะ (dizziness) หมายถึง อาการวิงเวียน ศีรษะตื้อ ๆ หรือโหวง ๆ รู้สึกโคลงเคลง หน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม
บ้านหมุน หมายถึง อาการที่รู้สึกว่าเห็นบ้านหรือสิ่งรอบข้างหมุน (vertigo) ซึ่งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
อาการเหล่านี้ นับว่าพบได้บ่อยในคนทุกวัย แต่จะพบมากในผู้สูงอายุ อาจมีสาเหตุได้มากมาย และมีความรุนแรงตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงมาก (ตรวจอาการ “เวียนศีรษะ/บ้านหมุน” ประกอบ)
สาเหตุ
การเคลื่อนไหวและการทรงตัวของร่างกายคนเราจะสมดุลเป็นปกติได้ ต้องอาศัยการทำหน้าที่เป็นปกติและประสานงานได้ดีของตา ประสาทการรับรู้ที่ผิวหนัง กล้ามเนื้อและข้อ หูชั้นใน และสมอง ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดความบกพร่องขาดการประสานสอดคล้องกัน ก็จะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ/บ้านหมุนได้ ซึ่งสามารถแบ่งอาการออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ซึ่งมีภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุต่าง ๆ กัน ดังนี้
1. บ้านหมุน (vertigo) มักเกิดบ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า, เมารถเมาเรือ (motion sickness), ไมเกรน
สาเหตุอื่นที่อาจพบได้ เช่น หูชั้นในอักเสบเฉียบพลัน เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ โรคเมเนียส์ เนื้องอกประสาทหู เนื้องอกสมอง โรคหลอดเลือดสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ กระดูกคอเสื่อม* สาเหตุจากยาหรือแอลกอฮอล์ เป็นต้น
2. หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม (near syncope/presyncope) มักเกิดจากความดันตกในท่ายืน ภาวะซีดจากสาเหตุต่าง ๆ ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่พอ หิวข้าวหรืออยู่ในที่แออัด ตั้งครรภ์ ภาวะขาดน้ำ การลุกขึ้นเร็ว ๆ
สาเหตุอื่นที่อาจพบได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจพิการ ภาวะตกเลือด ผลข้างเคียงจากยา สูบบุหรี่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น
3. โคลงเคลง คล้ายทรงตัวไม่มั่นคง (disequilibrium) มักเกิดจากผลข้างเคียงของยา เช่น ยารักษาโรคลมชัก ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท
สาเหตุที่อาจพบได้ เช่น โรคเกี่ยวกับสมองน้อย (cerebellar disease) เนื้องอกสมอง ความผิดปกติของหูชั้นใน โรคพาร์กินสัน ปลายประสาทอักเสบ
นอกจากนี้ ในผู้สูงอายุยังอาจเกิดจากภาวะสูญเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ (disequilibrium of aging) เนื่องจากความเสื่อมของอวัยวะที่เกี่ยวกับการทรงตัว เช่น สายตามัวหรือเลือนลาง (จากต้อกระจก ต้อหิน) หูชั้นในและเซลล์ประสาทหูเสื่อม เซลล์สมองเสื่อม ปลายประสาทเสื่อม ข้อเสื่อม และกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะรู้สึกเป็นปกติดีขณะอยู่ในท่านอน นั่ง หรือยืนอยู่เฉย ๆ แต่เมื่อออกเดิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหันตัวกลับ) จะรู้สึกโคลงเคลง เดินเซ หรือหกล้มได้ อาการจะเป็นมากถ้าเดินบนทางที่ไม่คุ้นเคย ทางขรุขระหรือในที่สลัว ๆ
4. ศีรษะตื้อหรือโหวงๆ (light headedness) มักเกิดจากโรคทางจิตประสาท ได้แก่ โรคกังวล โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน
* อาการบ้านหมุนที่พบในผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่คอหรือศีรษะ และกระดูกคอเสื่อม/กระดูกคองอกกดรากประสาท เรียกว่า “Cervical vertigo” มักมีอาการขณะแหงนหน้าหรือเงยศีรษะไปข้างหลัง ซึ่งจะเป็นอยู่นาน 10-20 วินาที เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของประสาทรับรู้เกี่ยวกับการทรงตัวที่อยู่ที่กระดูกสันหลังคอ อันเนื่องมาจากโรคดังกล่าว นอกจากนี้ ในผู้ป่วยกระดูกคอเสื่อม ยังอาจมีปุ่มงอก (osteophyte) ไปกดทับหลอดเลือดแดง (vertebral artery) ที่ไปเลี้ยงสมองส่วนควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว
อาการ
เวียนศีรษะ มีอาการวิงเวียน ศีรษะตื้อ ๆ หรือโหวง ๆ รู้สึกโคลงเคลง หรือหน้ามืดตาลายคล้ายจะเป็นลม
บ้านหมุน มีอาการที่รู้สึกว่าเห็นบ้านหรือสิ่งรอบข้างหมุน ซึ่งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย อาการบ้านหมุนอาจเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ (นานเป็นวินาทีหรือนาที) หรืออาจต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมง ๆ วัน ๆ หรือสัปดาห์ ขึ้นกับโรคที่เป็นสาเหตุ
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรรวมทั้งอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นสาเหตุของอาการเวียนศีรษะ/บ้านหมุน
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการและสิ่งตรวจพบเป็นหลัก
ในกรณีที่มีความไม่แน่ใจ แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุ เช่น
- การทดสอบการได้ยิน (audiometry) ในรายที่มีอาการหูตึงหรือมีเสียงดังในหู
- การทดสอบดิกซ์ฮอลล์ไพก์ ในรายที่มีอาการบ้านหมุน
- การตรวจเลือด ดูภาวะซีด ระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด และอื่น ๆ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ดูความผิดปกติของหัวใจ
- การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ในรายที่สงสัยมีความผิดปกติของสมอง เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
1. แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ถ้าสงสัยเกิดจากภาวะฉุกเฉิน เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะช็อก โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะตกเลือดรุนแรง เป็นต้น
2. แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุเมื่อมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- อาเจียนมากจนกินไม่ได้ หรือเกิดภาวะขาดน้ำ
- ใบหน้าชา หรือเป็นอัมพาตซีกหนึ่ง
- เดินเซ ซึม ชัก คอแข็ง หรือรูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน
- มีอาการปวดเสียวหรือชาลงแขนข้างหนึ่ง
- ปวดแน่นลิ้นปี่ และร้าวไปที่ขากรรไกร คอหรือแขน
- ชีพจรเต้นช้า หรือเร็วกว่าปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
- ฟังหัวใจมีเสียงฟู่ (murmur)
- มีอาการนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
3. ถ้าไม่มีภาวะหรืออาการดังในข้อ 1 และ 2 จะให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น บ้านหมุนจากการเปลี่ยนท่า ไมเกรน เมารถเมาเรือ ความดันตกในท่ายืน น้ำตาลในเลือดต่ำ โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ตั้งครรภ์ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น
4. ถ้าไม่พบสาเหตุชัดเจน และมีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนเพียงเล็กน้อย ให้การรักษาตามอาการ ดังนี้
- ขณะมีอาการบ้านหมุน ให้ผู้ป่วยนั่งอยู่ในท่าคอตรง ๆ อย่าเคลื่อนไหวศีรษะไปในทิศทางที่ทำให้เกิดอาการ
- ขณะมีอาการหน้ามืดจะเป็นลม ให้รีบนั่งหรือนอนลง เวลาจะลุกขึ้นให้ลุกขึ้นนั่งหรือยืนอย่างช้า ๆ
- ขณะมีอาการโคลงเคลง ให้ผู้ป่วยใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดิน หรือมีที่เกาะเดิน
- ถ้ามีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้ไดเมนไฮดริเนต กินหรือฉีด
- ถ้าเครียดหรือนอนไม่หลับ ให้ยากล่อมประสาท
การดูแลตนเอง
หากมีอาการวิงเวียน ศีรษะตื้อ ๆ โหวง ๆ หน้ามืดเล็กน้อย หรือบ้านหมุนช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นบางครั้งเวลาเปลี่ยนท่า ควรดูแลตนเอง ดังนี้
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่าปล่อยให้หิว งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ถ้ามีอาการหน้ามืดจะเป็นลม ให้รีบนั่งหรือนอนลง เวลาจะลุกขึ้นให้ลุกขึ้นนั่งหรือยืนอย่างช้า ๆ
- ถ้ามีอาการบ้านหมุน ให้ผู้ป่วยนั่งอยู่ในท่าคอตรง ๆ อย่าเคลื่อนไหวศีรษะไปในทิศทางที่ทำให้เกิดอาการ
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- มีอาการเป็นลม (หมดสติชั่วคราว) หรือ ภาวะช็อก (ตัวเย็น มือเท้าเย็น ใจสั่น ลุกนั่งมีอาการหน้ามืดจะเป็นลม)
- อาการรุนแรงจนนั่งหรือยืนไม่ได้
- มีอาการปวดศีรษะรุนแรง ท้องเดินรุนแรง หรือมีไข้สูง
- อาเจียนมากจนกินไม่ได้ หรือเกิดภาวะขาดน้ำ
- หน้าตาซีดเซียว มีเลือดออก หรือถ่ายอุจจาระดำหรือเป็นเลือดสด
- ใบหน้าชา หรือ แขนขาชาหรืออ่อนแรง
- เดินเซ ซึม ชัก คอแข็ง (ก้มคอไม่ได้)
- มีอาการปวดเสียวหรือชาลงแขนข้างหนึ่ง
- ปวดแน่นลิ้นปี่ และร้าวไปที่ขากรรไกร คอหรือแขน
- ชีพจรเต้นช้า หรือเร็วกว่าปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ
- ดูแลตนเอง 2 -3 วันแล้วไม่ทุเลา
- มีความวิตกกังวลหรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
ในกรณีที่ไปพบแพทย์ เมื่อแพทย์ตรวจรักษาแล้ว ควรดูแลรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัดและการสูบบุหรี่ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
2. บริโภคอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัว และมีสุขนิสัยในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคต่าง ๆ
3. เมื่อมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น) ควรดูแลรักษาอย่างจริงจัง
ข้อแนะนำ
1. อาการเวียนศีรษะ/บ้านหมุน เกิดจากสาเหตุหลายประการ ซึ่งมีความรุนแรงและการดูแลรักษาแตกต่างกัน แพทย์จะทำการซักประวัติ (รวมทั้งประวัติการใช้ยา) และตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบประสาทและสมอง หัวใจ การวัดความดันโลหิตในท่านอนและท่ายืน) เพื่อค้นหาสาเหตุที่ร้ายแรง
2. สาเหตุของอาการเวียนศีรษะที่พบได้บ่อยประการหนึ่งก็คือ อาการหน้ามืดเวลาลุกขึ้นยืน ซึ่งมักเกิดจากร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนไม่พอ หรือเครียด และบางครั้งก็อาจบังเอิญตรวจพบว่ามีความดันช่วงบนค่อนข้างต่ำ (เช่น 90-110 มม.ปรอท) แพทย์อาจบอกผู้ป่วยว่าเป็นความดันต่ำ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกวิตกกังวลได้ ถ้าหากมีการตรวจวัดความดันในท่ายืนเทียบกับท่านอนแล้วไม่พบว่าเป็นความดันตกในท่ายืน
ภาวะนี้ก็ไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องให้ยารักษาเพียงแต่หาทางนอนหลับพักผ่อน ผ่อนคลายความเครียด และหมั่นออกกำลังกาย อาการก็จะทุเลาไปได้เอง โดยที่ความดันโลหิตก็ยังมีค่าใกล้เคียงกับของเดิม ภาวะ “ความดันต่ำ” ในลักษณะนี้ไม่ถือว่าเป็นโรค และยังอาจมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่มีค่าความดันที่สูงกว่า
3. สำหรับภาวะสูญเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ แพทย์อาจตรวจหาภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุ ซึ่งมักมีมากกว่า 1 อย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ข้อเข่าเสื่อม ต้อกระจก เป็นต้น แล้วให้การแก้ไขควบคุม ในกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขอาการโคลงเคลงได้ ผู้ป่วยควรยอมรับ และหาทางปรับตัว ควรใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยเดินเพื่อป้องกันไม่ให้หกล้ม รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย เช่น ปรับพื้นให้เรียบ ให้มีแสงสว่าง เป็นต้น