
สมองพิการ (โรคพิการทางสมอง อัมพาตสมองใหญ่ ก็เรียก) หมายถึง กลุ่มอาการพิการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและท่าทางของร่างกายกลุ่มหนึ่งที่เกิดจากพยาธิสภาพหรือรอยโรคในสมองใหญ่ (cerebrum) ซึ่งควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย
โรคนี้มักเป็นมาแต่กำเนิดหรือตั้งแต่เล็ก มีอาการแสดงและความรุนแรงต่าง ๆ กันไป ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะรอยโรคที่เกิดขึ้นในสมอง และบางรายอาจมีความผิดปกติอื่น ๆ รวมทั้งความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาร่วมด้วย ความพิการที่เกิดขึ้นจะเป็นอยู่อย่างถาวรและคงที่ ไม่มากขึ้นตามอายุ
คาดว่ามีทารกและเด็กเล็กป่วยเป็นโรคสมองพิการประมาณ 1-3 คนต่อทารก 1,000 คน พบบ่อยในทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 1,500 กรัม ทารกที่คลอดท่าก้นหรือมีภาวะแทรกซ้อนของการคลอด ทารกที่มีมารดาเป็นโรคติดเชื้อหรือโรคเรื้อรังบางชนิดขณะตั้งครรภ์
สาเหตุ
ส่วนใหญ่เป็นความพิการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา โดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
ส่วนน้อยที่ทราบสาเหตุ ซึ่งมีอยู่หลายประการ เช่น
1. ระยะก่อนคลอด มารดามีปัจจัยเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ เช่น เป็นโรคหัดเยอรมัน หรือติดเชื้อไวรัสบางชนิด เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไทรอยด์ โรคลมชักชนิดรุนแรง หรือโรคขาดอาหารรุนแรง ได้รับบาดเจ็บ หรือดื่มแอลกอฮอล์จัด สูบบุหรี่ หรือได้รับสารกัมมันตรังสี
บางกรณีทารกมีพัฒนาการของสมองที่ผิดปกติมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ หรือมีภาวะตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดสมองของทารก
2. ระยะคลอด สมองทารกได้รับบาดเจ็บหรือมีเลือดออกจากการคลอดยาก หรือทารกมีภาวะขาดอากาศหายใจ (มีอาการไม่หายใจและตัวเขียวหลังคลอด)
3. ระยะหลังคลอด ที่พบบ่อย คือ ทารกมีภาวะดีซ่านรุนแรงหลังคลอดเพียงไม่กี่วัน ทำให้เกิดภาวะบิลิรูบินสะสมในสมอง (kernicterus) ซึ่งมักทำให้เกิดสมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ (athetotic cerebral palsy)
4. ระยะเด็กเล็ก (อายุ 3-5 ปีแรก) เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคติดเชื้อของสมอง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตะกั่วเป็นพิษ โรคขาดอาหารรุนแรง ศีรษะได้รับบาดเจ็บหรือเลือดออกในสมอง ภาวะขาดอากาศหายใจ เช่น สำลักสิ่งแปลกปลอม จมน้ำ
อาการ
อาการผิดปกติมักเกิดขึ้นตั้งแต่หลังคลอด ซึ่งจะปรากฏอาการตั้งแต่อายุ 6 เดือน และชัดเจนเมื่ออายุ 1-2 ปี (ส่วนเด็กที่มีสมองพิการจากภาวะแทรกซ้อนของการเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุในภายหลัง ก็จะมีอาการหลังเกิดเหตุ)
อาการแสดงมีได้หลายลักษณะ โดยแรกเริ่มทารกจะมีพัฒนาการช้า เช่น คลาน นั่ง ยืน เดิน และพูดได้ช้ากว่าปกติ ต่อมาจะมีความผิดปกติของความตึงของกล้ามเนื้อ อาจแข็งตัวหรืออ่อนตัวกว่าปกติ มีการเคลื่อนไหวและท่าทางผิดปกติ
ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะเป็นสมองพิการชนิดเกร็ง (spastic cerebral palsy) คือ มีกล้ามเนื้อแข็งตัว ทำให้แขนขาเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก ข้อศอกและข้อเข่างอ ความผิดปกติอาจเป็นเฉพาะที่แขนและขาซีกหนึ่ง (hemiplegia) หรือขา 2 ข้าง (diplegia) หรือแขนและขาทั้ง 4 ข้าง (quadriplegia)
ชนิดที่พบได้รองลงมา ได้แก่ สมองพิการชนิดเคลื่อนไหวผิดปกติ (athetotic cerebral palsy) คือ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนตัวทั้งร่างกาย และมีการเคลื่อนไหวของใบหน้าและแขนขาอย่างช้า ๆ แบบยึกยือ (ไม่เป็นจังหวะ) หรือกระตุก ซึ่งเกิดขึ้นเองนอกเหนือการควบคุมของผู้ป่วย คล้ายอาการอยู่ไม่สุข ทำให้ไม่สามารถตั้งตัวตรงและหยิบจับสิ่งของ (เช่น แปรงสีฟัน ช้อน) ไม่ได้
ส่วนน้อยจะเป็นสมองพิการชนิดกล้ามเนื้อเสียสหการ (ataxic cerebral palsy) คือ กล้ามเนื้อไม่สามารถประสานการทำงาน ทำให้มีอาการมือสั่นเวลาเคลื่อนไหว เดินเซ
ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เดินตัวไม่ตรง เดินขาลากหรือเท้าลากข้างหนึ่ง ตัวสั่น น้ำลายไหล กลืน ดูด หรือพูดลำบาก พูดไม่ชัด หรือพูดฟังไม่รู้เรื่อง เขียนหนังสือหรือติดกระดุมได้ลำบาก บางรายอาจมีอาการตาเหล่ สายตาไม่ดี หูตึง เป็นโรคลมชัก สติปัญญาพร่องหรือปัญญาอ่อน


ภาวะแทรกซ้อน
ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น เด็กตัวเล็ก (เนื่องจากกินอาหารลำบาก) ฟันผุ ท้องผูก ปอดอักเสบ (เนื่องจากการสำลักอาหาร) ตาบอด หูหนวก กระดูกพรุน ข้อยึดติด ข้อสะโพกหลุด กระดูกสันหลังคด โรคลมชัก (พบได้ประมาณร้อยละ 15-60) ปัญญาอ่อน (พบได้ประมาณร้อยละ 30-50) เรียนรู้ช้า สมาธิสั้น เป็นต้น
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
พัฒนาการช้า แขนขาเกร็ง บางรายขา 2 ข้างเกร็งไขว้กันคล้ายกรรไกร แขนขาเคลื่อนไหวผิดปกติ ตัวสั่น มือสั่น พูดไม่ชัด เดินเซ บางรายอาจมีอาการปัญญาอ่อนร่วมด้วย
แพทย์จะตรวจหาสาเหตุโดยทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ตรวจหาความผิดปกติทางกรรมพันธุ์และโรคทางเมตาบอลิซึม (metabolic disorders) เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
ให้การรักษาทางกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด การใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน การฝึกพูดและแก้ไขความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน เพื่อให้เด็กสามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุด
ส่วนยาที่ให้จะเป็นกลุ่มยาที่ใช้ควบคุมอาการที่พบร่วม เช่น ถ้ามีอาการชักก็ให้การรักษาแบบโรคลมชัก ถ้าแขนขามีอาการเกร็งหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ ก็ให้ยาลดอาการ เช่น ไดอะซีแพม ไตรเฮกซีเฟนิดิล (trihexyphenidyl) เป็นต้น
บางรายแพทย์อาจฉีดสารโบทูลิน เพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ หรืออาจต้องผ่าตัดแก้ไขความพิการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ
ผลการรักษา ขึ้นกับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรค ในรายที่เป็นรุนแรงมักมีอายุสั้น
ถ้ามีอาการแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้าง มักมีอาการชักและปัญญาอ่อนร่วมด้วย อาจเดินไม่ได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
ในรายที่มีอาการเกร็งของขา 2 ข้าง หรือแขนขาซีกหนึ่งมักจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงน้อยกว่ารายที่มีแขนขาเกร็งทั้ง 4 ข้าง การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด และการใช้อุปกรณ์ช่วย มักจะได้ผลดี
โดยทั่วไป ถ้าเด็กสามารถนั่งได้เมื่ออายุ 2 ปี ผลการรักษาค่อนข้างดี ถ้าพ้นอายุ 4 ปีแล้วยังนั่งไม่ได้ ผู้ป่วยก็มักจะเดินไม่ได้
ในรายที่เป็นไม่มาก และไม่มีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญา มักจะสามารถเรียนหนังสือและประกอบอาชีพได้เช่นคนปกติ บางรายอาจมีความฉลาดและประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเป็นอย่างดี
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น ทารกมีพัฒนาการช้า (เช่น คลาน นั่ง ยืน เดิน และพูดได้ช้ากว่าปกติ) กล้ามเนื้อแข็งตัวหรืออ่อนตัวกว่าปกติ หรือ แขนขาเกร็งหรือมีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคสมองพิการ ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
เนื่องจากส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงหาทางป้องกันได้ค่อนข้างยาก
ส่วนที่ทราบสาเหตุแน่ชัด ก็อาจป้องกันได้โดยการปฏิบัติดังนี้
- ก่อนตั้งครรภ์ ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง บำรุงอาหารสุขภาพ ควบคุมโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง) ให้ได้ผล ควรฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมัน
- เมื่อตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ และดูแลครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์ หลีกเลี่ยงสิ่งอันตราย (เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่) และคลอดที่สถานพยาบาลที่มีความพร้อม
- เมื่อพบว่าทารกแรกเกิดมีอาการตาเหลือง ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
- ทารกและเด็กเล็ก ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามตารางกำหนด ควรระวังป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ และเมื่อมีอาการเจ็บป่วยควรรีบดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
ข้อแนะนำ
โรคนี้สามารถแสดงอาการได้หลายลักษณะและไม่จำเป็นต้องมีความบกพร่องทางเชาวน์ปัญญาร่วมด้วยเสมอ ควรแนะนำให้พ่อแม่ที่มีลูกเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย เฝ้าสังเกตพัฒนาการของทารกอย่างใกล้ชิด ถ้าสงสัยมีความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก ก็มักจะช่วยให้เด็กสามารถช่วยตัวเองได้ หรือสามารถเรียนหนังสือและประกอบอาชีพได้