
เนื้องอกไขสันหลัง หมายถึง เนื้องอกที่เกิดขึ้นที่ไขสันหลัง ซึ่งแบ่งเป็นชนิดปฐมภูมิ (มีต้นกำเนิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในและรอบ ๆ ไขสันหลัง ซึ่งมีทั้งชนิดไม่ร้ายและชนิดร้าย) และชนิดทุติยภูมิ (มะเร็งที่แพร่กระจายจากที่อื่น) ซึ่งพบได้บ่อยกว่าชนิดปฐมภูมิ
โรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนเนื้องอกชนิดทุติยภูมิมักพบในคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ
เนื้องอกไขสันหลังพบได้น้อยกว่าเนื้องอกสมอง
สาเหตุ
เนื้องอกไขสันหลังชนิดปฐมภูมิ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าอาจเกี่ยวกับปัจจัยทางกรรมพันธุ์ร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
เนื้องอกไขสันหลังชนิดทุติยภูมิ ส่วนใหญ่เกิดจากการแพร่กระจายมาจากมะเร็งปอด เต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมไทรอยด์ ไต และต่อมน้ำเหลือง มาที่กระดูกสันหลังและกดถูกประสาทสันหลัง
อาการ
มักมีอาการเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แรกเริ่มจะมีอาการปวดหลัง และบางครั้งอาจมีอาการปวดเสียวตรงบริเวณสะโพกและขาแบบอาการของรากประสาทถูกกดทับ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดรากประสาท ซึ่งจะเป็นมากขึ้นเวลาไอ จาม*
อาการดังกล่าวอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ ๆ หรือเป็นเดือน ๆ แล้วต่อมาจะมีอาการชาและอ่อนแรงของขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง อาการอ่อนแรงจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเดินไม่ได้
ผู้ป่วยอาจมีอาการถ่ายปัสสาวะอุจจาระเองไม่ได้หรือกลั้นไม่อยู่ และมีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (องคชาตไม่แข็งตัว) ร่วมด้วย
ในรายที่มีเนื้องอกที่ไขสันหลังในบริเวณคอ อาจกดถูกประสาทที่ควบคุมแขน อาจทำให้แขนชาและอ่อนแรงได้
* อาการแบบนี้มักพบในเนื้องอกที่อยู่รอบ ๆ ไขสันหลัง ซึ่งงอกมากดทับรากประสาท ส่วนเนื้องอกที่อยู่ภายในไขสันหลังจะไม่มีอาการแบบนี้ แต่จะมีอาการขาชา อ่อนแรง และกล้ามเนื้อลีบ และอาการควบคุมการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้มักเกิดขึ้นเร็ว
ภาวะแทรกซ้อน
แขนขาเป็นอัมพาต ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลกดทับ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ และการตรวจพบขามีอาการชา อ่อนแรง กล้ามเนื้อลีบ
บางรายอาจมีอาการชาและอ่อนแรงของแขน
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์กระดูกสันหลัง เจาะหลัง ถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography) ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะช่วยให้หายปวดหลัง และแขนขามีแรงขึ้น
ในรายที่เป็นเนื้องอกชนิดร้าย (มะเร็ง) อาจต้องรักษาด้วยการฉายรังสี
ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของเนื้องอก และความรุนแรงของโรค
ถ้าเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา เช่น meningioma, neurofibroma และอาการไม่รุนแรงก็มีทางหายขาดได้
ถ้าประสาทสันหลังถูกทำลายมาก หรือเป็นเนื้องอกชนิดร้ายหรือมะเร็งที่แพร่กระจายมาจากที่อื่น ก็อาจเป็นอัมพาตครึ่งล่างหรืออัมพาตหมดทั้งแขนขา แล้วอาจเป็นแผลกดทับหรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบแทรกซ้อน และผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการชาและอ่อนแรงของขาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเนื้องอกไขสันหลัง ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ควรป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม โดยการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ เมื่อสังเกตว่ามีอาการที่น่าสงสัย
ข้อแนะนำ
ผู้ที่สังเกตว่ามีอาการแขนหรือขาชาและอ่อนแรงข้างหนึ่งหรือ 2 ข้าง ควรปรึกษาแพทย์ อาจเกิดจากความผิดปกติของสมองและไขสันหลังได้