
กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน (กลุ่มอาการหายใจเกิน โรคหอบจากอารมณ์หรือ psychogenic dyspnea ก็เรียก) เป็นภาวะที่มีอาการหายใจผิดปกติร่วมกับอาการแสดงทางกายหลายระบบ ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ โดยไม่มีความผิดปกติทางกายแต่อย่างใด และเป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่ผู้ป่วยมักมีอาการหายใจหอบและเจ็บหน้าอกอย่างฉับพลัน ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นภาวะร้ายแรง ซึ่งมักจะพาผู้ป่วยไปตรวจที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 6-10 ของคนทั่วไป พบได้ในคนทุกวัย พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 7 เท่า พบมากในช่วงอายุ 15-55 ปี และพบว่าพ่อแม่หรือบุตรของผู้ป่วยมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป โดยยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคแพนิก
สาเหตุ
โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มในการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอก (แทนกะบังลมและกล้ามเนื้อท้อง) ซึ่งทำให้การหายใจไม่มีประสิทธิภาพ และมักมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ ที่สำคัญได้แก่ ความเครียดทางจิตใจและอารมณ์ (เช่น ความกลัว วิตกกังวล โกรธ ขัดใจ น้อยใจ เสียใจ เป็นต้น)
บางครั้งก็อาจถูกกระตุ้นด้วยอาการเจ็บปวดรุนแรง (เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบ หายใจลึกหรือหายใจเร็ว ส่งผลให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากเกิน เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง (alkalosis) และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดอาการผิดปกติของร่างกายหลายระบบพร้อม ๆ กัน
อาการ
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการระบายลมหายใจเกิน เช่น หายใจลึก หายใจถี่ หรือทั้งลึกและทั้งถี่ ซึ่งมักเกิดขึ้นทันทีหลังจากมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจหรือมีความเครียดทางอารมณ์ บางรายอาจเกิดหลังจากมีอาการเจ็บปวดรุนแรง
อาจบ่นปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น เจ็บหน้าอก แน่นอึดอัดในหน้าอก ชารอบปาก ชาปลายมือปลายเท้า หรือมีลมในท้อง ท้องอืดเฟ้อ
อาจมีอาการร้องเอะอะโวยวาย ดิ้นไปมา สับสน ประสาทหลอน หรือนอนแน่นิ่งเหมือนเป็นลม บางรายมีอาการหลับตามิดและขมิบหนังตาแน่น
ผู้ป่วยมักมีอาการมือและเท้าจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง คล้ายเป็นตะคริว ทั้งนี้เนื่องจากเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ (hypocalcemia) ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิกิริยาลูกโซ่จากการระบายลมหายใจเกิน จึงเกิดอาการชักเกร็ง (tetany หรือ carpopedal spasm) ของมือและเท้า
อาการเหล่านี้ อาจทุเลาได้เอง ถ้าผู้ป่วยสามารถควบคุมตัวเองให้กลับมาหายใจแบบปกติ แต่ถ้ายังมีการหายใจผิดปกติ อาการเหล่านี้ก็จะเป็นต่อเนื่อง อาจนานเป็นชั่วโมง ๆ ทำให้ญาติตกใจกลัว จนต้องรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล
ในรายที่เป็นเรื้อรัง มักไม่มีอาการหายใจผิดปกติ และมือเท้าจีบเกร็งให้เห็นเด่นชัด ผู้ป่วยมักบ่นว่ามีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก รู้สึกหายใจไม่อิ่มหรือแน่นอึดอัดในหน้าอก นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ เวียนศีรษะ ศีรษะโหวง ๆ หรือรู้สึกโคลงเคลง ชาหรือเสียว ๆ บริเวณรอบปากหรือปลายมือปลายเท้า มีลมในท้อง คลื่นไส้ และมักมีอาการถอนหายใจหรือหาวบ่อย


ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ มีความรู้สึกกลัวอย่างไม่มีเหตุผล มีปมด้อย ขาดความอบอุ่นทางจิตใจ หรือมีปัญหาในการปรับตัว
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
ในรายที่เป็นเฉียบพลัน มักตรวจพบอาการหายใจลึก หายใจถี่ มือจีบ เท้าจีบ อาจพบอาการเจ็บตามกล้ามเนื้อหน้าอก หน้าซีด มือสั่น ชีพจรเต้นเร็ว
ในรายที่เป็นเรื้อรัง อาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน บางรายอาจพบว่ามีอาการถอนหายใจหรือหาวบ่อย หรือเจ็บตามกล้ามเนื้อหน้าอก ถ้าให้ผู้ป่วยหายใจลึกและเร็ว (30-40 ครั้ง/นาที) ก็มักชักนำให้เกิดอาการมือและเท้าจีบเกร็ง ถ้าให้ผู้ป่วยหายใจในกรวยกระดาษ อาการต่าง ๆ ก็มักจะทุเลา
หากสงสัยอาจมีสาเหตุอื่น แพทย์อาจทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ในรายที่มีอาการเฉียบพลัน มีอาการหายใจเกิน และมือเท้าจีบ เมื่อซักถามอาการและตรวจร่างกายแล้วแน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากสาเหตุทางกาย (ตรวจอาการ ชัก และ หอบ/เหนื่อยง่าย) ก็ให้การรักษาโดยการพูดจาปลอบผู้ป่วย แนะนำให้ผู้ป่วยหายใจช้าลง หรือให้กินยากล่อมประสาทและใช้กระดาษทำเป็นรูปกรวย มีรู 0.5-1 ซม. ตรงปลายกรวย (หรือใช้ถุงกระดาษเจาะรูตรงกลาง) ครอบปากและจมูกผู้ป่วยแน่นพอ ให้ผู้ป่วยหายใจภายในกรวยหรือถุงกระดาษ เพื่อสูดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำจะมีฤทธิ์เป็นกรด) เข้าไปแก้ภาวะเลือดเป็นด่าง ซึ่งจะแก้ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้มือเท้าหายจีบเกร็ง และอาการต่าง ๆ ทุเลาได้ ปกติมักจะได้ผลภายใน 10-15 นาที
จะหลีกเลี่ยงวิธีให้ผู้ป่วยหายใจในกรวยหรือถุงกระดาษนี้ ถ้าหากสงสัยมีสาเหตุจากโรคทางกาย (เช่น โรคหัวใจ โรคหืด เบาหวาน โลหิตจาง มีไข้ เป็นต้น) หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด เช่น อายุมากกว่า 55 ปี หรือเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือมีประวัติสูบบุหรี่
2. ในรายที่เป็นเรื้อรัง ถ้าทำการทดสอบแล้วมั่นใจว่าเป็นโรคนี้ ก็ให้ยาทางจิตประสาท ฝึกให้ผู้ป่วยหายใจด้วยท้อง (เวลาหายใจเข้าท้องจะป่อง เวลาหายใจออกท้องจะแฟบ) และฝึกให้รู้จักวิธีผ่อนคลายความเครียด หากติดตามผลการรักษาแล้วไม่ดีขึ้น หรือสงสัยมีสาเหตุจากโรคทางกาย แพทย์อาจต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด และตรวจพิเศษอื่น ๆ
ถ้าพบว่าเป็นโรคนี้จริง ก็จะปรับเปลี่ยนยาทางจิตประสาทให้เหมาะสม และถ้าพบว่ามีโรคแพนิก ภาวะวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ก็จะให้การรักษาพร้อมกันไป ในบางรายอาจจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการหายใจลึก หายใจถี่ มือจีบเกร็ง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
ยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
ผู้ที่เป็นโรคนี้ อาจป้องกันไม่ให้กำเริบด้วยการออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้มักมีอาการหายใจลึก หายใจถี่ และมือจีบเกร็ง คนทั่วไปอาจรู้สึกว่าเป็นอาการที่น่าตกใจ แต่เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด และไม่มีภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายใด ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีอาการเกิดขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าไม่ได้มีสาเหตุจากโรคทางกาย อาทิ
- อาการมือจีบเกร็ง อาจมีสาเหตุจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำเนื่องจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ (hypoparathyroidism) ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยที่มีประวัติการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (สังเกตเห็นรอยแผลผ่าตัดที่คอ) ในกรณีนี้แพทย์อาจให้ผู้ป่วยกินแคลเซียมหรือฮอร์โมนพาราไทรอยด์ทดแทน
- อาการหายใจลึก หายใจถี่ อาจมีสาเหตุจากโรคหืด
2. ผู้ป่วยควรติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด และควรฝึกวิธีหายใจด้วยท้อง ฝึกสมาธิ ออกกำลังกาย และฝึกวิธีผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งรู้จักการดูแลตนเองเมื่อมีอาการกำเริบเฉียบพลัน เช่น หายใจในกรวยกระดาษ หรือหายใจในผ้าห่มที่คลุมโปง