
เด็กบางคน อาจมีความรู้สึกกลัวโรงเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน อาจอ้างเหตุผลว่ากลัวครู กลัวเพื่อน หรือมีอาการไม่สบาย เมื่อถูกบังคับให้ไปเรียนหนังสือ ก็จะเกิดความกังวลและมีอาการทางกาย เช่น ปวดท้องหรืออาเจียน แต่ถ้าได้อยู่บ้านก็จะหายเป็นปกติ
มักพบในเด็กที่เพิ่งเข้าเรียนในระยะ 1-2 ปีแรก พบในผู้หญิงกับผู้ชายพอ ๆ กัน
สาเหตุ
เกิดจากเด็กมีปัญหาการเลี้ยงดูภายในครอบครัว เช่น พ่อแม่ตามใจให้การปกป้องมากไป จนเด็กช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เด็กจึงมีความรู้สึกอยากอยู่บ้านมากกว่าไปโรงเรียน จึงมีความกลัวโรงเรียน โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับความไม่ดีต่าง ๆ ของโรงเรียน
บางคนอาจมีความเครียดความวิตกกังวล เช่น พ่อแม่ทะเลาะกัน ญาติผู้ใหญ่ไม่สบาย เป็นต้น
มีเพียงส่วนน้อยที่อาจมีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนโดยตรง เช่น ถูกเพื่อนรังแก ถูกครูตี
ถ้าพบอาการตอนวัยรุ่นหรือเด็กโต มักมีสาเหตุจากปัญหาทางจิตใจที่รุนแรง เช่น โรคซึมเศร้า โรคกลัว (phobias) เป็นต้น
อาการ
เด็กจะมีอาการอาเจียน หรือบ่นว่าปวดท้องในตอนเช้า (ในช่วงระหว่างเริ่มตื่นนอน จนกระทั่งก่อนเข้าเรียน) เป็นประจำทุกวัน ถ้าเป็นวันหยุดหรือได้หยุดเรียนอาการจะน้อยลงหรือหายไป
ในช่วงใดถ้ามีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ในวันเปิดเรียนเด็กจะมีความกังวลและไปโรงเรียนยากขึ้น
โดยทั่วไป เด็กจะแข็งแรงดีและเมื่ออยู่บ้านจะร่าเริงและเล่นได้ตามปกติ
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรงอาจมีปัญหาการปรับตัว การเข้าสังคม มีปมด้อย
บางคนอาจเกิดภาวะซึมเศร้า ติดสารเสพติด
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการเป็นหลัก
การตรวจร่างกาย จะไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้ามีประวัติอาการชัดเจน เช่น เด็กมีอาการเฉพาะตอนเช้าของวันที่เรียนหนังสือ และทุเลาในวันหยุดก็ควรอธิบายให้พ่อแม่เด็กเข้าใจถึงสาเหตุของโรค ก็จะแนะนำให้เด็กไปเรียนตามปกติทุกวัน ทั้งพ่อแม่และครูควรร่วมมือกันค้นหาและแก้ไขสาเหตุ (เช่น ปัญหาในโรงเรียน ปัญหาในครอบครัว) รวมทั้งช่วยเหลือเด็กให้ได้รับความอุ่นใจ มั่นใจ และคลายกังวล
2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 1 สัปดาห์ หรือสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคทางกาย อาจต้องตรวจดูสาเหตุอื่น ๆ เช่น ตรวจอุจจาระดูว่าเป็นโรคพยาธิไส้เดือนหรือไม่ เพราะโรคนี้อาจทำให้เด็กมีอาการอาเจียนหรือปวดท้องเรื้อรังได้ (ตรวจอาการ อาเจียน และ ปวดท้อง” ประกอบ)
ถ้ามีสาเหตุจากด้านจิตใจ อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการอาเจียน หรือบ่นปวดท้องในตอนเช้า (ในช่วงระหว่างเริ่มตื่นนอน จนกระทั่งก่อนเข้าเรียน) ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะเด็กไม่อยากไปโรงเรียน ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
อาจป้องกันด้วยการที่พ่อแม่เลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพจิตดี และรู้จักปรับตัวได้
ข้อแนะนำ
โรคนี้ไม่มีอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใด เมื่อพ่อแม่และครูเข้าใจในปัญหาและร่วมมือกันแก้ไข อาการมักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เด็กบางคนอาจไม่ยอมไปโรงเรียน และหยุดเรียนนานเป็นแรมปี ก่อให้เกิดปัญหาแก่พ่อแม่และการเรียนของเด็กเอง