
ในคนปกติ เมื่อลุกขึ้นยืนจะทำให้มีเลือดคั่งที่เท้าเป็นเหตุให้ปริมาตรของเลือดที่ไหลเวียนในกระแสเลือดลดลง ร่างกายจะเกิดการปรับตัวโดยอัตโนมัติ ให้หลอดเลือดแดงหดตัวทันที เพื่อให้ความดันโลหิตอยู่ในภาวะปกติ
แต่ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถปรับตัวได้ตามปกติ ดังนั้น ขณะที่เปลี่ยนจากท่านอนเป็นท่ายืนจะมีภาวะความดันต่ำกว่าปกติทันที ทำให้มีอาการหน้ามืด วิงเวียนคล้ายเป็นลมชั่วขณะ เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
เราเรียกภาวะความดันต่ำขณะลุกขึ้นนี้ว่า ความดันตกในท่ายืน (postural/orthostatic hypotension)
สาเหตุ
ที่พบบ่อย ได้แก่ อายุมาก ปริมาตรของเลือดลดลงจากภาวะตกเลือด (เช่น มีเลือดออก ถ่ายอุจจาระดำ) หรือภาวะขาดน้ำ (เช่น ท้องเดิน อาเจียนรุนแรง) การใช้ยา (เช่น ยาลดความดัน ยากลุ่มไนเทรตที่ใช้รักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ยาขับปัสสาวะ ยานอนหลับ ยาแก้ซึมเศร้า ยาเลโวโดพาที่ใช้รักษาโรคพาร์กินสัน) ประสาทอัตโนมัติเสื่อม (ANS neuropathy) จากเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง
นอกจากนี้ ยังอาจพบในผู้ป่วยที่ขาดอาหาร ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ โรคแอดดิสัน โรคพาร์กินสัน กลุ่มอาการกิลเลนบาร์เร (ดูโรคโปลิโอ) เนื้องอกของต่อมหมวกไตฟีโอโครโมไซโตมา ภาวะหัวใจวายรุนแรง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (aortic stenosis)
บางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาการ
มีอาการหน้ามืด วิงเวียน จะเป็นลมขณะที่ลุกขึ้นนั่งหรือยืนทุกครั้ง อาจรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่า ตาลายร่วมด้วย สักครู่หนึ่งก็หายเป็นปกติ
ในรายที่เป็นมาก ๆ อาจมีอาการหมดสติ หรือชักร่วมด้วย เมื่อล้มตัวลงนอนก็จะหายได้เอง
ภาวะแทรกซ้อน
นอกจากการบาดเจ็บจากการล้มฟุบแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองขาดเลือดเฉียบพลัน (เป็นอัมพาต) รวมทั้งภาวะหัวใจวาย และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการวัดความดันในท่ายืน (หลังยืนขึ้น 2-5 นาที) เทียบกับท่านอน พบว่าความดันช่วงบนลดลง > 20 มม.ปรอท หรือความดันช่วงล่างลดลง > 10 มม.ปรอท หรือพบทั้ง 2 อย่าง หรือความดันช่วงบนในท่ายืน < 90 มม.ปรอท
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ถ้าตรวจพบสาเหตุชัดเจน ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ เช่น ภาวะขาดน้ำหรือตกเลือดก็ให้น้ำเกลือหรือให้เลือด ถ้าเกิดจากยาก็ปรับการใช้ยาให้เหมาะสม เช่น ลดขนาดของยาลดความดัน เวลาจะอมยากลุ่มไนเทรต (ไอโซซอร์ไบด์ หรือไนโตรกลีเซอรีน) ก็ควรนั่งลงก่อนอย่าลุกขึ้นยืน เป็นต้น
2. ถ้าตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน จะทำการตรวจหาสาเหตุโดยการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ และอื่น ๆ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
3. ในรายที่มีอาการบ่อย ๆ แพทย์อาจให้ยากลุ่ม mineralocorticoid เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) หรือให้ยาหดหลอดเลือด เช่น เอฟีดรีน (ephedrine) หรือไมโดดรีน (midodrine)
ผลการรักษา ขึ้นกับสาเหตุ บางอย่างก็ได้ผลดีหรือหายขาด บางอย่าง (เช่น ถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย) ก็อาจได้ผลไม่ดีนัก
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการหน้ามืด วิงเวียน จะเป็นลมขณะที่ลุกขึ้นนั่งหรือยืนทุกครั้ง ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะความดันตกในท่ายืน ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
สำหรับกลุ่มที่มีสาเหตุที่ป้องกันได้ อาจป้องกันตามสาเหตุ อาทิ
- ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ หากมีอาการท้องเดินหรืออาเจียนควรดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดหรือแก้ข้ออักเสบ (ที่มีตัวยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) อย่างพร่ำเพรื่อ เพราะอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร มีอาการถ่ายอุจจาระดำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัดจนกลายเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง
- หากเป็นเบาหวาน ควรรักษาอย่างจริงจัง เพื่อชะลอการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรระมัดระวังการใช้ยาลดความดันเกินขนาด และในกรณีที่เบื่ออาหารหรือกินอาหารได้น้อย หากกินยาลดความดันอยู่ ควรวัดความดันวันละหลายครั้ง หากพบว่าความดันเริ่มลดมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับลดยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันตกในท่ายืน
ข้อแนะนำ
1. ภาวะความดันตกในท่ายืน เป็นเพียงอาการที่ปรากฏให้เห็น ไม่ใช่โรค ดังนั้นจึงควรค้นหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
2. ควรแยกออกจากอาการเวียนศีรษะกลุ่มที่มีสาเหตุไม่ชัดเจน ซึ่งบางครั้งอาจตรวจพบความดันโลหิตต่ำกว่าคนทั่วไปได้ ควรทำการวัดความดันในท่ายืนเทียบกับท่านอนดูว่าเข้าได้กับเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะความดันตกในท่ายืนหรือไม่ ทั้ง 2 กลุ่มนี้มีสาเหตุและการรักษาที่แตกต่างกัน