
โรคนี้เกิดจากการกินปลาดิบที่มีตัวพยาธิใบไม้ตับ พบมากทางภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งประชาชนบางส่วนนิยมกินปลาดิบ ๆ พบได้ในคนทุกวัย พบมากในช่วงอายุ 55-64 ปี และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
สาเหตุ
เกิดจากติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ (liver fluke หรือ opisthorchis) ซึ่งเป็นพยาธิที่มีอยู่ในปลาตามหนองบึง เช่น ปลาแม่สะแด้ง ปลาตะเพียนทราย ปลาสร้อยนกเขา ปลาสูตร ปลากะมัง เป็นต้น ซึ่งพบมากทางภาคอีสาน เมื่อคนกินปลาดิบ ๆ ที่มีพยาธิชนิดนี้เข้าไป ตัวอ่อนของพยาธิก็จะเข้าไปเจริญเติบโตและอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีตับในตับอย่างถาวร สามารถอยู่นานถึง 25 ปี ทำให้ท่อน้ำดีเกิดการอุดตันจากพยาธิ ก่อให้เกิดการอักเสบและความผิดปกติของตับเรื้อรัง
โรคพยาธิใบไม้ตับพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับโรคมะเร็งท่อน้ำดี
วงจรชีวิตของพยาธิ พยาธิตัวแก่ที่อยู่ในตับคนสุนัขหรือแมว จะออกไข่ปนออกมากับน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก และไข่จะออกมากับอุจจาระ ถ้าถ่ายอุจจาระลงในน้ำ ไข่จะถูกหอยชนิดหนึ่งกินและฟักเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะออกจากหอยว่ายน้ำไปสู่ปลาดังกล่าว เมื่อคนกินปลาพยาธิก็จะเข้าไปเจริญเติบโตในตับอีก

อาการ
ระยะแรกเริ่มอาจไม่มีอาการแสดงอะไรเลย หรือมีเพียงอาการท้องอืดเฟ้อคล้ายอาหารไม่ย่อย หรือออกร้อนบริเวณชายโครงขวาหรือยอดอก
ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการท่อน้ำดีอักเสบแทรกซ้อน กล่าวคือ มีอาการไข้ ดีซ่าน ปวดแถวลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา แน่นอึดอัดในท้อง(เนื่องจากตับโต) อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินหรือท้องผูกสลับท้องเดินร่วมด้วย อาการเหล่านี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นติดต่อเรื่อยไปอย่างเรื้อรัง
ในรายที่เป็นรุนแรงหรือมีโรคมะเร็งท่อน้ำดีแทรกซ้อน จะมีอาการปวดท้องมากขึ้น อ่อนเพลีย เบื่ออาหารมากขึ้น น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว มีอาการตาเหลืองตัวเหลืองจัด คันตามตัว ถ่ายอุจจาระสีซีดขาว ท้องมาน (ท้องบวมน้ำ) ขาดอาหาร เท้าบวม คลำได้ก้อนที่ใต้ชายโครงขวา
ภาวะแทรกซ้อน
หากปล่อยเรื้อรัง จะกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับวาย และอาจทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีแทรกซ้อนได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบอาการดีซ่าน ตับโตและกดเจ็บ บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
แพทย์จะวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพบไข่พยาธิใบไม้ตับ หรือตรวจพบสารก่อภูมิต้านทาน (แอนติเจน) ในอุจจาระ ในเลือดหรือปัสสาวะ
ในรายที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจทำการตรวจเลือด อัลตราซาวนด์ สแกนตับ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้ยากำจัดพยาธิใบไม้ตับ เช่น พราซิควานเทล, อัลเบนดาโซล ซึ่งช่วยให้หายขาดได้ แต่ถ้ากลับไปกินปลาดิบอีก ก็จะติดเชื้อพยาธิกลายเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับได้อีก
ในกรณีที่โรคพยาธิใบไม้ตับระยะรุนแรง แพทย์อาจรับตัวไว้ในโรงพยาบาล และให้การรักษาแบบประคับประคอง เช่น การใส่ท่อระบายน้ำดีในรายที่มีภาวะอุดกั้นของท่อน้ำดี (มีอาการตาเหลืองตัวเหลืองจัด คันตามผิวหนัง อุจจาระสีซีดขาว), การเจาะเอาน้ำออกจากท้องเป็นครั้งคราวในรายที่มีอาการแน่นอึดอัดท้องเนื่องจากมีน้ำในท้อง (ท้องมาน) มาก เป็นต้น
การดูแลตนเอง
ผู้ที่มีประวัติกินปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หรือมีอาการที่น่าสงสัย (เช่น มีอาการปวดเสียดใต้ชายโครงขวา หรือแน่นอึดอัดในท้องเรื้อรัง หรือมีอาการตาเหลืองตัวเหลือง อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ท้องบวม หรือ คลำได้ก้อนแข็งที่ใต้ชายโครงขวา) ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ ควรกินยากำจัดพยาธิ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ในกรณีที่เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับระยะรุนแรง ควรดูแลรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด
การป้องกัน
สามารถป้องกันได้โดยการไม่กินปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ และถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด
ข้อแนะนำ
1. โรคนี้แม้จะมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการไม่กินปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ
2. ผู้ที่ยังนิยมกินปลาน้ำจืดแบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาโรคนี้ในระยะเริ่มแรก และกินยารักษาให้หายขาด และเลิกนิสัยดังกล่าวอย่างเด็ดขาด เนื่องเพราะถึงแม้ว่าในปัจจุบันมียาที่ใช้ฆ่าพยาธิใบไม้ตับอย่างได้ผล แต่ถ้ายังไม่เลิกนิสัยดังกล่าว ก็ยังคงติดโรคพยาธินี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ เรื่อยไป มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ท่อน้ำดีอักเสบ ตับอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งท่อน้ำดี